Input your search keywords and press Enter.

มะพร้าวก้นสาว มูลค่าลูกนับแสน สุกเพิ่มถึง 6 ลูก ที่สวนนงนุช เป็นพันธุ์ไม้ที่แปลกและหายากอีกชนิดหนึ่งของโลก เตรียมนำไปขยายพันธุ์ เพื่อการอนุรักษ์

วันพฤหัสบดี ที่ 7 มกราคม 2564 เวลา 09.00 น. นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา ได้นำมะพร้าวก้นสาว ซึ่งเป็นชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้าน แต่ภาษาตามแหล่งกำเนิดเรียกว่า มะพร้าวทะเล หรือ มะพร้าวแฝด (LODOICEA MALDIVICA) ที่สุกจำนวน 6 ลูก ส่วน 3 ลูกที่สุกก่อนนั้นได้ทำการผ่าเปลือกออกเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 เพื่อรอนำไปขยาย และอนุรักษ์พันธุ์ไม้ที่แปลกและหายากซึ่งรวมกับวันนี้ อีก 3 ลูก เป็นทั้งหมด จำนวน 6 ลูก

สำหรับมะพร้าวทะเล หรือมะพร้าวแฝด (LODOICEA MALDIVICA) จัดเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะเล็กๆ ในประเทศซีเซลล์ ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และหนักที่สุดในโลก มีความยาวมากถึง 12 นิ้ว และน้ำหนักประมาณ 40 ปอนด์ ลักษณะผลเหมือนมะพร้าว 2 ลูกติดกัน จนเป็นที่มาของชื่อ มะพร้าวแฝด หรือมะพร้าวก้นคน เป็นชื่อสามัญของปาล์มชนิดนี้ มีการเจริญเติบโตช้ามาก ผลใช้เวลาเป็นปีในการงอก และอีก 1 ปี สำหรับให้ใบแรก ถือเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง ปาล์มชนิดนี้จากสถิติพบมีความสูงถึง 100 ฟุต ความยาวใบ 20 ฟุต และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 ฟุต แม้ชื่อสามัญจะมีชื่อว่า มะพร้าวแฝด แต่ก็ไม่ใช่มะพร้าว มีการเจริญเติบโตเหมือนปาล์มที่มีรูปพัด โดยมีเพศแยกออกไปคนละต้น ต้นเพศเมีย จะไม่ให้ผลจนกว่าจะมีอายุ 30 ปีขึ้นไป และบางต้นอาจมีระยะเวลาถึง 100 ปีในอดีตผู้คนนิยมเอากะลาของมะพร้าวทะเลไปทำเป็นลูกประคำ เช่น เป็นเครื่องรางของขลัง เป็นยารักษาสารพัดโรค คือเชื่อว่าเป็นผลไม้จากสวรรค์และเป็นผลไม้แห่งความอมตะ

นายกัมพล กล่าวว่า ปัจจุบัน สวนนงนุชพัทยามีต้นมะพร้าวแฝด หรือมะพร้าวทะเลอยู่ในความดูแล จำนวน 36 ต้น เป็นต้นตัวผู้ 4 ต้น และต้นตัวเมีย 7 ต้น ต้นที่ยังไม่ทราบเพศอีก 25 ต้น ซึ่งอนาคตมีแนวโน้มจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต้นที่สุกในวันนี้เป็นต้นที่ 3 มีอายุประมาณ 30 กว่าปี สุกในต้นเดียวกัน 3 ลูก อย่างไรก็ตาม มูลค่าต่อผลมะพร้าว 1 ลูก จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 35,000 – 40,000 บาท ลูกที่สามารถนำไปเพาะขยายพันธุ์ได้เลยราคาอยุ่ที่ประมาณ 300,000 บาท

นายกัมพลยังกล่าวต่ออีกว่าได้มีนักพฤกษศาสตร์จากต่างประเทศติดต่อมาเพื่อขอแลกเปลี่ยนเมล็ดมะพร้าวทะเลกับพันธุ์ไม้หายากของประเทศนั้นๆ ซึ่งมีประเทศเฟรนช์เกียนาได้ทำการแลกเปลี่ยนไปแล้ว 1 ลูก และยังมีอีกลูกที่กำลังจะส่งไปยังประเทศเรอูเนียง ที่ตั้งอยู่ในคาบมหาสมุทรอินเดีย