
ที่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมด้วย ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพย.) นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายมนู เลียวไพโรจน์, ประธาน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย และนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ผู้อำนวยการ สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมเปิดงานจัดงาน MIRA และ SUBCON EEC 2023 โดยมีผู้ประกอบการ แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า บีโอไอ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcontracting Promotion Association) และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) ได้ร่วมจัดงาน MIRA (Maintenance, Industrial Robotics and Automation) และ SUBCON EEC 2023 ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2566 โดยมุ่งเป้าให้เป็นงานเดียวที่รวบรวมเอาสินค้า โซลูชั่น และบริการอุตสาหกรรมจากบริษัทชั้นนำจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาจัดแสดงอย่างครบวงจร อีกทั้งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมและจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนโดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา และจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนเพื่อระดมความคิดด้านการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภายในประเทศ

การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นงานเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างตลาดและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) เพราะตระหนักดีว่า ในการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ EV อิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอัตโนมัติ หัวใจสำคัญคือ การมี Supply Chain ที่ครบวงจรและเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน และทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ อีกด้วย บีโอไอจึงมีนโยบายและการจัดกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติ สามารถเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในประเทศให้มากที่สุด อีกทั้งผู้ผลิตเหล่านี้ได้สั่งสมประสบการณ์และทักษะ จนมีขีดความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบริษัทชั้นนำมากมาย จึงมองเห็นโอกาสในการผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs ไทย เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้รวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในภาคอุตสาหกรรมมาจัดแสดงกว่า 150 ราย พร้อมกันนี้ยังได้รวบรวมการประชุมและสัมมนาในหัวข้อสำคัญๆ อาทิ การเสวนาหัวข้อ“จากกระบวนการผลิต สู่การเลือกใช้ระบบอัตโนมัติที่เหมาะสม” และ A Case Study of Prompt Engineering for Industrial Cybersecurity using ChatGPT และที่พลาดไม่ได้คือ โซนเทคโนโลยีพิเศษ MIRA x FIBO ที่ผู้จัดงานได้ร่วมมือกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำสามเทคโนโลยีพิเศษมาจัดแสดง ได้แก่ 1. “มดบริรักษ์” หุ่นยนต์ผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ช่วงโควิดที่สามารถนำแนวคิดไปต่อยอดในการจัดการ 2. CHESS ROBOT กิจกรรมการเล่นหมากรุกระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์เล่นหมากรุกสากล และ 3. Interactive Virtual Aquarium ที่สามารถสร้างสรรค์อย่างเฉพาะตัวของผู้ชมงานแต่ละคนปล่อยลงสู่ Virtual Aquarium ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 5,000 คน ทุกภาคส่วนมองตรงกันว่าเวทีนี้จะเป็นจุดหมายที่สำคัญในการร่วมสร้างจุดหมายใหม่ในการลงทุนให้กับภาคเศรษฐกิจไทย”




