Input your search keywords and press Enter.

อำเภอศรีราชาจัดกิจกรรมวันตีอต้านยาเสพติดโลก

อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จัดกิจกรรม 26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติดโลก อำเภอศรีราชา ประจำปี 2565 เพื่อเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเพื่อแสดงเจตนารมณ์และพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภายใต้กรอบแนวคิดของ การรวมพลัง เพื่อให้พ้นภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน

วันนี้ (24 มิ.ย.65) นายนริศ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ปลัดอาวุโสอำเภอศรีราชา รักษาการแทนนายอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม 26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติดโลก อำเภอศรีราชา ประจำปี 2565 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเพื่อแสดงเจตนารมณ์และพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภายใต้กรอบแนวคิดของ การรวมพลัง เพื่อให้พ้นภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน นำไปสู่จุดมุ่งหมาย “สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด” โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในอำเภอศรีราชาเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง ที่บริเวณสนามกีฬาเทศบาลเมืองศรีราชา ภายในโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา จ.ชลบุรี

ซึ่งกิจกรรมในวันนี้มีการเดินขบวนพาเหรดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน โรงเรียนในพื้นที่ศรีราชา โดยเริ่มต้นจากเทศบาลเมืองศรีราชาถึงสนามกีฬาโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา จากนั้นมีการร่วมกันกล่าวประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านยาเสพติด การแสดงโชว์ To Be Number One ของโรงเรียนทุ่งสุขลากรุงไทยอนุเคราะห์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก การแข่งขันกีฬาฟุตบอลและกีฬาพื้นบ้านอึกด้วย

โดยมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาด้านความมั่นคง จึงมีการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ เพื่อลดระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในสังคมไทย นำไปสู่จุดมุ่งหมายคือ “สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด ” โดยด้านการปราบปราม มุ่งเน้นลดระดับความรุนแรงของพื้นที่แพร่ระบาด จับกุมผู้ค้ายาเสพติดและขยายผลไปสู่การยึดทรัพย์สินที่ได้จากการค้ายาเสพติด ในส่วนของการป้องกันเน้นลดประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว หมู่บ้านและชุมชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดโดยใช้วิธีการทางสาธารณสุขแทนการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วย ที่ควรได้รับการช่วยเหลือให้เข้ารับการบำบัดรักษา ตลอดจนติดตามช่วยเหลือให้กลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป