Input your search keywords and press Enter.

ผู้บัญชาการ โรงเรียนนายเรือเป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันปิยมหาราช

วันที่ 23 ต.ค.64 พลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องใน วันปิยมหาราช ณ หน้ากองบัญชาการโรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ


โดยมีผู้บังคับบัญชา หัวหน้าหน่วยขึ้นตรง ข้าราชการโรงเรียนนายเรือ และนักเรียนนายเรือ เข้าร่วมพิธีฯ ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด
วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็น“วันปิยมหาราช” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เหล่าประชาชนทั้งชาติ ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบุพการี ของกองทัพเรือ


ด้วยในสมัยโบราณ ยังมิได้มีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก จวบจนรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มมีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก เมื่อครั้งเริ่มแรกตั้งกรมทหารเรือนั้น กิจการทหารเรือบางประเภท ยังขาดบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ จำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศ เข้ามารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อาทิผู้บังคับการเรือ และผู้บัญชาการป้อมต่างๆ
ต่อมา ภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศ เข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติ ได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถ เพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติ ที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชโอรสสองพระองค์ ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศ คือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมันนี ( พ.ศ.2454-2456)


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นความสำคัญของการให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ ในตำแหน่งสำคัญทางทหาร จึงได้มีการจัดส่งนายทหาร ไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ อีกทั้งมีการพัฒนาทั้ง องค์บุคคล และองค์วัตถุควบคู่กันไป ปรับปรุงกำลังรบทางเรือให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทรงจัดการการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารเรือ จัดการฝึกสอนวิชาการทหารเรือขึ้น โดยเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรกที่บริเวณอู่หลวงใต้วัดระฆัง ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ สำหรับอบรมนายทหารชั้นประทวน หรือฝ่ายช่างกลและเดินเรือ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนนายสิบ นายร้อยทหารเรือฝ่ายบกขึ้น เมื่อ พ.ศ.2438 ภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 เพียง 2 ปี (โรงเรียนนายสิบทหารเรือเป็นต้นกำเนิดโรงเรียนชุมพลทหารเรือ)


และในปี พ.ศ.2440 ได้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรือขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ.2442 ได้จัดตั้งโรงเรียนนายเรือ ขึ้นที่ วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) มีนายนาวาโท ไซเดอลิน (Seidelin) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ คนแรก
ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมทหารเรือออกจาก กระทรวงยุทธนาธิการ เป็นกรมอิสระ เพื่อจัดหน้าที่การงานเฉพาะส่วนของกรมทหารเรือได้โดยสิทธิ์ขาด ตั้งแต่นั้นมากิจการของกรมทหารเรือ ได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามแบบอารยประเทศ ทางยุโรป
ในปี พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จฯ มาเปิด โรงเรียนนายเรือ ซึ่งต่อมา ทางกองทัพเรือ จึงได้ถือเอาวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นวันกองทัพเรือ การที่กองทัพเรือได้เจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน ก็ด้วยพระวิจารณญาณและพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวฯ โดยแท้
นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645