Input your search keywords and press Enter.

กองเรือยุทธการ จัดทำ “สวนสมุนไพรต้านภัยโควิด” ปลูกพืชสมุนไพรต่อยอดจาก สวนผักรักษ์สุข ขานรับนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19

วันที่ 30 ก.ค.64 พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ คุณสุนันท์ สมานรักษ์ ประธานชมรมภริยากองเรือยุทธการ พร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชา และคณะทำงานสวนผักรักษ์สุข กองเรือยุทธการ ร่วมปลูกพืชสมุนไพร เช่นต้นกระชายขาว และต้นฟ้าทะลายโจร ณ สวนผักรักษ์สุข กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ในพื้นที่สวนผักรักษ์สุข กองเรือยุทธการ ได้เพาะปลูกพืชสวนครัว และสมุนไพรไทย เช่น กระชายขาว , หอมแดง , แตงกวา , พริก , ผักบุ้ง , คะน้า , ตำลึง ฯลฯ อยู่แล้ว และได้ดำเนินการแบ่งพื้นที่ เพื่อจัดทำ “สวนสมุนไพรต้านภัยโควิด” แยกพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการต่อต้านโควิด-19 เช่น ต้นกระชายขาว และต้นฟ้าทะลายโจรมาปลูก โดยจะดำเนินการแจกจ่ายพืชสมุนไพรให้หน่วยขึ้นตรงของกองเรือยุทธการดำเนินการเพาะปลูกต่อไป เป็นไปตามนโยบายของ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ต้องการให้หน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูก พิจารณานำพืชสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณต่อต้านโควิด-19 มาปลูกในพื้นที่ของหน่วย และขยายพันธุ์แจกจ่ายให้แก่กำลังพล ครอบครัว รวมถึงชุมชนโดยรอบได้นำไปปลูก เพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้ปลอดภัยจากโควิด-19


สวนผักรักษ์สุข กองเรือยุทธการ ดำเนินการจัดทำตามนโยบายของผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ด้วยความสนับสนุนจากชมรมภริยากองเรือยุทธการ ด้วยการใช้พื้นที่ว่างในกองเรือยุทธการประมาณ 1.5 ไร่ แบ่งพื้นที่ในการเพาะปลูก

โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกำลังพลและครอบครัว กองเรือยุทธการ ให้มีความรู้ สามารถปลูกผักกินเองได้ภายในครัวเรือน มีที่แลกเปลี่ยนความรู้ให้กับกำลังพลในการปลูกผักปลอดสารพิษ มีที่ปลูกผักสวนครัว เพื่อจำหน่ายให้ครอบครัวกำลังพลมาซื้อได้ในราคาถูก เป็นการลดค่าใช้จ่าย และได้ผักปลอดสารมาบริโภคในครัวเรือน สามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดรายได้ ลดรายจ่าย เป็นไปตามตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง “ศาสตร์พระราชา” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวคิด “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตลอดจนน้อมนำหลักการในการดำเนินการ “โคก หนอง นา โมเดล” มาปรับใช้อีกด้วย และได้รับการพัฒนาเรื่อยมา จนสามารถนำความรู้ และผลผลิตไปแบ่งปันให้กับกำลังพลภายในหน่วยได้ โดยปัจจุบันสามารถแลกเปลี่ยน และแบ่งปันความรู้ให้กับหน่วยงาน ตลอดจนชุมชนอย่างต่อเนื่อง