Input your search keywords and press Enter.

สกพอ. เดินหน้ารับฟังเสียงประชาชน ครั้งที่ 1 เร่งศึกษาระบบ Feeder เชื่อมต่อไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินในพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

วันที่ 23 พ.ค. 2566 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี (สกพอ.) ได้จัดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ครั้งที่ 1 : ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยได้รับเกียรติจาก นายวรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการดำเนินโครงการ แนวคิดการพัฒนา และแผนการดำเนินงาน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุม ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะประเด็นความสนใจในการร่วมโครงการฯ โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ และประชาชนเข้าร่วมประชุมด้วย

นายวรวุฒิ มาลา กล่าวว่า สกพอ. ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมหลักของพื้นที่ EEC ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) สนามบินอู่ตะเภา และโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวเส้นทางและรูปแบบระบบขนส่งที่มีความเหมาะสมและตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ สกพอ. จึงได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุม ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งในประเด็นรูปแบบของระบบขนส่งมวลชนรอง แนวเส้นทางโครงการ ให้มีความสอดคล้องตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุด

สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการ ตั้งอยู่ในบริเวณตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 14,619 ไร่ ถือเป็นจุดศูนย์กลางของการศึกษาโครงการ โดยจะศึกษาแนวเส้นทางที่เชื่อมโยงไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา โดยพื้นที่การศึกษาครอบคลุม 2 จังหวัด คือจังหวัดชลบุรี รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ และจังหวัดระยอง 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านฉาง และอำเภอนิคมพัฒนา

ดยโครงการฯ มีขอบเขตการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ งานส่วนที่ 1 งานวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะขนาดรองที่เชื่อมโยงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งานส่วนที่ 2 งานการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน งานส่วนที่ 3 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) โดยมีระยะเวลาในการศึกษาโครงการ 360 วัน

ซึ่งในอนาคตเมื่อเกิดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางไปยังโครงการต่างๆ ในพื้นที่ EEC จะสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เกิดการพัฒนาที่ดินตามแนวเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนและบริเวณโดยรอบสถานีที่เป็นชุมชนใหญ่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากความต้องการการบริโภคสินค้าและบริการของประชาชนและเกิดการกระจายความหนาแน่นออกจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอีกด้วย ภายหลังการประชุมครั้งนี้ สกพอ.จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของประชาชน ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง