Input your search keywords and press Enter.

เมืองพัทยาเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการบำบัดน้ำเสียมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

 

        วันนี้ 23 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมดาวดึงส์ แกรนด์บอลรูมโรงแรมเดอะ ไซมีท พัทยา นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยาเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เอกชนนำน้ำผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  พร้อมด้วยนางสาวจีรวรรณ จันทร์เขียว ผู้จัดการโครงการฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีเปิดและร่วมประชุม

ด้วยสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเข้าสู่ภาวะขาดแคลนน้ำอย่างชัดเจน เนื่องจากน้ำในแหล่งน้ำต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันออกลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำที่จะยิ่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC หากไม่มีการหาแหล่งน้ำต้นทุนใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสเกิดความขาดแคลนน้ำเมืองพัทยา มีน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยา ซึ่งมีอยู่เป็นจํานวนไม่น้อยกว่าวันละ 65,000 ลูกบาศก์เมตร นำไปทำการปรับปรุงด้วยกระบวนการบำบัดขั้นสูงให้มีคุณภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

อีกทั้งปัจจุบันนี้มีนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งที่ใช้น้ำปริมาณมากเริ่มให้ความสนใจถึงแนวทางการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพยากร ให้เกิดความคุ้มค่าแล้วนํากลับมาใช้ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลน ดังนั้นทางเมืองพัทยาจึงได้ว่าจ้าง บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท สหพัฒนะ การพัฒนา จำกัด มาดำเนินการศึกษาโครงการให้เอกชนนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อการผลักดันโครงการการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เอกชนนำน้ำผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งนี้การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณการลงทุนของรัฐและเมืองพัทยาให้เมืองพัทยาสามารถลดการลงทุนและใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำเสียและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้ ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการน้ำเสีย

     สําหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นในโครงการฯ เพื่อให้การศึกษาของโครงการ เป็นไปตามบทบาทศักยภาพและสถานการณ์การพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาพื้นที่และเป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกภาคส่วนพร้อมนําไปสู่การบริหารจัดการน้ำเสียในอนาคตอย่างยั่งยืน