Input your search keywords and press Enter.

ฐานทัพเรือกรุงเทพ จัดกิจกรรมน้อมรำลึก ร.5 ในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 แบบนิวนอร์มอล

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 พลเรือตรี ชัยณรงค์ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ วางพานพุ่มถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงนำประเทศไทยพ้นภัยจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ในสมัยดังกล่าว พร้อมทั้งคล้องปากกระบอกปืนเสือหมอบ เพื่อเป็นการสดุดีวีรชนในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 สำหรับในปี 2564 ตรงกับ วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 ซึ่งถือว่าครบรอบ 128 ปี แต่เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ได้มีการระบาดอย่างหนัก คณะกรรมการจัดงานวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 จึงงดการจัดงานรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ตามมาตรการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด
วันรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในรัชสมัยของ,พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้น ชาติมหาอำนาจตะวันตก ได้เข้ามาแสวงหาอาณานิคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะฝรั่งเศส ได้เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามสในภูมิภาคอินโดจีนมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี จึงได้โปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าบริเวณปากร่องน้ำเจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และได้จัดซื้ออาวุธปืนทันสมัย เรียกว่า ปืนเสือหมอบ จากประเทศอังกฤษจำนวน 10 กระบอก เพื่อติดตั้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและที่ป้อมผีเสื้อสมุทร ในอดีตถือได้ว่าเป็นป้อมปราการที่มีความสำคัญและทันสมัยในการป้องกัน อริราชศัตรูที่รุกล้ำดินแดนจากทางทะเลเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นปราการด่านหน้า สำหรับการป้องกันประเทศ


การยุทธ์ ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เกิดขึ้น ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) เมื่อเรือรบฝรั่งเศสประกอบด้วย เรือแองคองสตังค์ และ เรือโคแมต ได้รุกล้ำผ่านสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา ขณะที่ฝ่ายไทยมีเรือมกุฎราชกุมาร เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือหาญหักศัตรู และเรือทูลกระหม่อม จอดระวังเหตุการณ์อยู่ที่แนวป้องกัน พร้อมทั้งมีทหารประจำการอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร แม้ว่าผู้แทนฝ่ายไทย ได้ขึ้นไปเจรจากับผู้บังคับการเรือรบฝรั่งเศส แต่ก็ไร้ผล เรือรบฝรั่งเศสยังคงแล่นผ่านสันดอนปากแม่น้ำเข้ามา จึงเกิดการยิงต่อสู้กันระหว่างปืนเสือหมอบที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า กับปืนใหญ่จากเรือรบของฝรั่งเศส และการสู้รบระหว่างเรือรบฝรั่งเศสกับเรือรบฝ่ายไทย แต่ในที่สุด ด้วยกำลังแสนยานุภาพที่แตกต่างกันอย่างมาก เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำก็สามารถตีฝ่าแนวป้องกันของไทยเข้าไปจอดทอดสมอ ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส สมทบกับเรือลูแตง ที่จอดทอดสมออยู่ที่สถานทูตของฝรั่งเศสอยู่ก่อนแล้วได้สำเร็จ ผลจากการสู้รบครั้งนั้นทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย และบาดเจ็บอีก 41 นาย ส่วนทหารฝรั่งเศส เสียชีวิต 3 นาย และบาดเจ็ด 3 นาย


จากผลของวิกฤตการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ประเทศสยามต้องเสียเงิน ค่าปฏิกรรมสงคราม จำนวน ๓ ล้านฟรังก์ กับต้องสูญเสียดินแดนไปถึง 1 ใน 3 ของผืนแผ่นดินสยามทั้งหมด ดังนี้ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ประเทศลาว) 143,000 ตารางกิโลเมตร ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (เมืองมโนไพร จำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้าง) 62,500 ตารางกิโลเมตร และมณฑลบูรพา (พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ) เนื้อที่ 51,000 ตารางกิโลเมตร ไปเป็นอาณานาคมของฝรั่งเศส เพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติไทยไว้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ กองทัพเรือได้ตระหนักถึงการเตรียมกำลังรบให้มีความพร้อมอยู่เสมอ


ภาพ/ข่าว สนง.โฆษกกองทัพเรือ
นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645