สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมี นายสรรเพ็ชร ศุภบวรเสถียร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณี พิมาพันธุ์ศรี คณบดีคณะบริหารธุรกิจ และรองศาสตราจารย์ ดร.สฎายุ ธีระวณิชตระกูล คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ร่วมลงนามฯ ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมที่พักและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ ตามความต้องการของตลาดแรงงาน หรือ Demand-Driven Workforce ในรูปแบบ Re-Skill, Up-Skill และ New-Skill ท่ามกลางคณะกรรมกรการสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก คณาจารย์ และนิติ นักศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยาน
รองศาสตราจารย์ ดร.สฎายุ ธีระวณิชตระกูล คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนากรบุคคลในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นหัวใจหลักที่จะก่อให้เกิดคุณภาพในการบริการและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มาใช้บริการ รวมถึงเป็นการสร้างมาตรฐานการบริการที่ดีให้กับธุรกิจที่พัก การเพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากรในด้านการให้ความรู้ เพิ่มทักษะต่าง ๆให้มีความเชี่ยวชาญ มีทัศนคติให้เหมาะสม กับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อไปในอนาคต อาจไม่ได้หมายถึงความชำนาญในวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังหมายถึงทักษะการจัดการอารมณ์ และความรู้สึก พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ไม่คาคคิด อย่างสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงระดับสายงานบริหารด้วยเช่นกันในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่ตอบโจทย์ในยุคดิจิตัลตามพฤติกรรมและการบริการที่เปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีทั่วโลก การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะยกระดับนิสิตที่จะสำเร็จการศึกษาไปเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะตรงความต้องการของอุตสาหกรรมที่พัก รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในสายอุตสาหกรรมที่พักให้มีทักษะที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบันในภูมิภาคตะวันออกต่อไป
ขณะที่ นายสรรเพ็ชร ศุภบวรเสถียร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพาในครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านธุรกิจที่พักเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นโรงแรมขนาดเล็กจนถึงโรงแรมระดับ International Chain ทั้งในเรื่องของรายได้ และกำลังคนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างไปตามวิกฤตการณ์ดังกล่าว ลดจำนวนพนักงาน เหลือไว้เท่าที่จำเป็น หลังจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวคลี่คลายและดีขึ้นตามลำดับ บรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ตามมาตรการการป้องกันที่เหมาะสม ทำให้ธุรกิจที่พักเริ่มประสบปัญหาพนักงานไม่เพียงพอให้บริการ รวมไปถึงพนักงานขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการให้บริการที่จำเป็น ในแต่ละตำแหน่งงานต่อธุรกิจที่พักในปัจจุบัน รวมถึงการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับบุคลากรของธุรกิจที่พักที่ยังขาดทักษะที่จำเป็น ทั้งทางด้าน Soft และ Hard Skills ในช่วงเร่งด่วนที่ยังต้องรอการผลิตบุคลากรจากสถาบันการศึกษา
ด้าน ดร.สานนท์ อนันทานนท์ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิจัย บริการวิชาการและนวัตกรรม คณะบริหารธุรกิจ กล่าวว่า เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมที่พักและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ ในการ Re-Skill, Up-Skill และ New-Skill ให้กับบุคลกรรวมถึงนิสิต ตามความต้องการของตลาดแรงงาน ในภูมิภาคตะวันออก ทั้งการร่วมมือกันในจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากร พัฒนาหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่พักและบริการที่เกี่ยวข้อง